แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผย ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า วันที่ 17 ม.ค.2561 กระทรวงคมนาคม การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) จะประชุมร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) เร่งสรุปการรับโอนหนี้สินค่าก่อสร้างรถไฟฟ้าต่อขยายสายสีเขียวช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 13 กม. และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 19 กม. วงเงิน 60,860 ล้านบาท ตามมติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) เมื่อปี 2559 ให้โอนโครงการให้ กทม.เป็นผู้บริหาร
เพื่อให้การเดินรถของสายสีเขียวเชื่อมต่อกันทั้งโครงข่าย โดยนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมสั่งเจรจา กทม.ให้จบในเดือน ม.ค.นี้ เพื่อให้ไม่กระทบต่อการเปิดเดินรถช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการในเดือน ธ.ค.2561
“แนวโน้ม กทม.จะยอมรับภาระหนี้ แต่ขอให้รัฐรับภาระค่าเวนคืน 2 เส้นทาง วงเงิน 9,262 ล้านบาท จากเดิมขอให้รัฐรับภาระค่าก่อสร้างโยธาและกทม.จะรับภาระค่างานระบบกว่า 2 หมื่นล้านบาทเท่านั้น กทม.จะขอกระทรวงการคลังปลอดหนี้ 10 ปี จะชำระคืนในปี 2573 หลังสัญญาสัมปทานกับบีทีเอสสิ้นสุดในปี 2572 ซึ่งทรัพย์สินและรายได้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสจะเป็นของกทม.ทั้งหมด และโครงการจะเริ่มมีรายได้ชำระหนี้ได้”
แหล่งข่าวจาก กทม.กล่าวว่า กทมขอชำระหนี้ปี 2573 เป็นต้นไป แบ่งชำระเป็นรายปี เนื่องจากสัมปทานที่บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอสซี) จะสิ้นสุดปี 2572 และทรัพย์สินจะตกเป็นของ กทม.สามารถนำโครงการระดมทุนจากกองทุนอินฟราสตรัคเจอร์ ออกพันธบัตร หรือขอกู้จากสถาบันการเงินเพื่อนำเงินมาชำระหนี้คืนได้
กทม.คาดการณ์ว่าตั้งแต่ปี 2572-2585 จะมีปริมาณผู้โดยสารจำนวนมาก โดยประเมินว่าจะมีรายได้ 3 แสนล้านบาท เมื่อหักค่าจ้างบีทีเอสเดินรถ 30 ปี วงเงินกว่า 1.64 แสนล้านบาท ยังมีเงินเหลือจะชำระหนี้ให้กระทรวงการคลังได้ เนื่องจากปัจจุบันกทม.ยังไม่เงินก้อนจะชำระหนี้
นายฤทธิกา สุภารัตน์ รองผู้ว่าฝ่ายบริหารและรักษาการผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า จากความไม่ชัดเจนการรับโอนหนี้สินกับกทม. ทำให้ รฟม.ชะลอการเดินหน้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 2 ช่วง จากสมุทรปราการ-บางปู ระยะทาง 7 กม. วงเงิน 9,529 ล้านบาท และคูคต-ลำลูกกา ระยะทาง 6.5 กม. วงเงิน 9,236 ล้านบาท ออกไปก่อน หาก กทม.ยอมชำระหนี้ก็จะยกโครงการ 2 ช่วงนี้ให้ กทม.ดำเนินการเอง
สำหรับความคืบหน้าการก่อสร้างสายสีส้มศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ระยะทาง 21.2 กม. ขณะนี้ผู้รับเหมาทยอยเข้าพื้นที่เพื่อรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคในแนวถนนรามคำแหงและพระราม 9 โดยวันที่ 17 ม.ค. จะปิดการจราจรขาออกสะพานยกระดับรามคำแหง 30 เดือน และสะพานแยกลำสาลี 6 เดือน จะเริ่มงานก่อสร้างเต็มรูปแบบตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป และจะแล้วเสร็จปี 2566
ส่วนสายสีชมพูแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. และสายสีเหลืองลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. ปัจจุบันทยอยส่งมอบพื้นที่และปิดการจราจรบนถนนติวานนท์ แจ้งวัฒนะ และรามอินทราของสายสีชมพูแล้ว ส่วนสายสีเหลืองจะเริ่มทยอยปิดการจราจรบนถนนลาดพร้าวตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค.นี้ และในเดือน ก.พ.จะปิดการจราจรฝั่งขาเข้าตลอดถนนลาดพร้าว ส่วนถนนศรีนครินทร์รอการส่งมอบพื้นที่จากกรมทางหลวง (ทล.)
ผลจากการส่งมอบพื้นที่ล่าช้า ทำให้การเริ่มนับสัญญาสัมปทานกับกลุ่มบีทีเอสซีเอกชนผู้ลงทุนเลื่อนจากเดือน ก.พ.เป็นเดือน เม.ย.2561 เนื่องจากรอสรุปการส่งมอบพื้นที่จากกรมทางหลวงและเอกชนผู้ลงทุนยังออกแบบไม่แล้วเสร็จ เนื่องจากทั้ง 2 โครงการใช้รูปแบบก่อสร้างไปและออกแบบไป ตามสัญญาจะตามแผนจะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี 3 เดือน แล้วเสร็จเปิดให้บริการในปี 2564
ทั้งนี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนในพื้นที่ รฟม.กำลังพิจารณาจะนำรถเมล์ ขสมก.และเรือคลองแสนแสบเป็นฟีดเดอร์รับส่งประชาชน
เพิ่มเติม : https://www.prachachat.net/property/news-102155