ลงทุนรถเมล์หมื่นล้านฟีดเดอร์ป้อนรถไฟฟ้า

“คีรี” สนลงทุนธุรกิจรถเมล์ 1 หมื่นล้าน ซุ่มเจรจาซื้อกิจการรถร่วม เป็นฟีดเดอร์ป้อนคนใช้รถไฟฟ้าสารพัดสี พร้อมยกระดับคุณภาพการบริการคมนาคมขนส่งไทย ต่อยอดบัตรแรบบิท

นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานบริหาร บริษัท บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มีความสนใจจะเข้าลงทุนเดินรถเส้นทางรถโดยสารประจำทาง เพื่อเป็นฟีดเดอร์ให้กับโครงข่ายรถไฟฟ้าที่จะมีการขยายเส้นทางใหม่ไปยังชานเมืองและเข้าไปในถนนในซอยต่าง ๆ ให้การเดินทางด้านระบบขนส่งสมบูรณ์ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 10,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษารายละอียด

“ตอนนี้ยังไม่สรุป แต่เราสนใจจะเข้าไปในธุรกิจนี้ เพราะเดินรถบีอาร์ทีให้ กทม.อยู่แล้ว ถ้าสรุปเมื่อไหร่ ก็พร้อมเริ่มได้ทันที เพราะมีบุคลากรอยู่แล้ว ถามผมว่าทำได้ไหม ทำได้ เพราะเป็นโครงข่ายมาเสริมกับรถไฟฟ้า ผมจะทำให้เรื่องของการจราจรในกรุงเทพฯสมบูรณ์ที่สุด อยู่ที่นโยบายรัฐบาล”

นายคีรีกล่าวว่า สำหรับรูปแบบการดำเนินงานจะมีทั้งซื้อรถใหม่และปรับเส้นทางใหม่ให้สอดคล้องกับเส้นทางรถไฟฟ้า ส่วนรูปแบบการลงทุนมีหลายรูปแบบ เช่น ซื้อกิจการเส้นทางรถเมล์ที่มีอยู่เดิมของเอกชน รถร่วม หรือจะร่วมกัน ยังพิจารณารายละเอียดกันอยู่

“ถ้าผมทำจะทำใหญ่เลย ไม่เล็ก จะได้เปลี่ยนคุณภาพต่าง ๆ ของรถเมล์ให้ดีขึ้น ซึ่งเราก็สนใจเรื่องบัตรโดยสาร e-Ticket บนรถเมล์ด้วย เพราะสามารถใช้ร่วมกับบัตรแรบบิทบีทีเอส และตั๋วร่วมของรัฐได้”

นายคีรีกล่าวว่า ตั้งแต่ปลายปี 2561 เป็นต้นไป รถไฟฟ้าที่บีทีเอสได้รับจ้างเดินรถให้จะเริ่มเปิดบริการครบ ซึ่งภายในเดือน ธ.ค. 2561 สายสีเขียวแบริ่ง-สมุทรปราการ ระยะทาง 12.8 กม.จะเปิดบริการเต็มเส้นทางจากปัจจุบันเปิดถึงสถานีสำโรง

จากนั้นปี 2562 จะเปิดบริการสายสีเขียวหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ระยะทาง 11.8 กม.ก่อน 1 สถานี จากหมอชิต-เซ็นทรัลลาดพร้าว ซึ่งทั้ง 2 เส้นทางจะเปิดบริการเต็มรูปแบบในปี 2563 ขณะที่สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) ระยะทาง 34.5 กม. และสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ระยะทาง 30 กม. จะสร้างเสร็จปลายปี 2563 และเปิดบริการในปี 2564 ทำให้มีรถไฟฟ้าให้บริการ 144 กม. และมีคนใช้บริการประมาณ 2 ล้านเที่ยวคนต่อวัน

ยังไม่รวมถึงรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ที่จะเปิดบริการอีก ทั้งสายสีน้ำเงินต่อขยายช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค และสายสีแดงบางซื่อ-รังสิต คาดว่าจะมีผู้โดยสารอีกจำนวนมากที่มาใช้บริการ ดังนั้นการที่มีระบบฟีดเดอร์ป้อนคนมายังสถานีรถไฟฟ้าง่ายและสะดวกมากขึ้น รวมถึงการใช้บัตรใบเดียวจ่ายค่าโดยสารจะยิ่งทำให้คนมาใช้บริการมากขึ้นอีกอย่างแน่นอน จึงทำให้บริษัทเริ่มศึกษาเพื่อจะเข้ามาลงทุนธุรกิจรถเมล์เป็นโครงข่ายขนส่งเพิ่มเติม

เพิ่มเติม : https://www.prachachat.net/property/news-90364