“บีทีเอส” ทยอยเปลี่ยนบัตรโดยสารเที่ยวเดียว “แตะเข้า-สอดออก” แทนแถบแม่เหล็ก

รถไฟฟ้าบีทีเอส เตรียมเปลี่ยนบัตรโดยสารประเภทเที่ยวเดียว จากบัตรแถบแม่เหล็ก เป็นบัตรสมาร์ทการ์ดชนิดบาง ทยอยเปลี่ยน 8 สถานีแรก เดือนนี้ แล้วเสร็จ พ.ย. นี้ ผู้โดยสารเข้าประตูสถานีเปลี่ยนจากเสียบบัตรเป็นแตะบัตรเพื่อเปิดประตู ถึงปลายทางสอดบัตรเพื่อคืนเหมือนเดิม

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส เปิดเผยว่า บริษัทฯ จะเปลี่ยนบัตรโดยสารประเภทเที่ยวเดียวจากบัตรแถบแม่เหล็ก เป็นบัตรสมาร์ทการ์ดชนิดบาง (ThinCard) ที่มีความบางมากกว่าบัตรแรบบิท หรือบัตรทั่วไป เพื่อเปลี่ยนเป็นบัตรเทคโนโลยีที่ทันสมัยยิ่งขึ้น รองรับการใช้งานในส่วนต่อขยายโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงสำโรง – สมุทรปราการ ซึ่งจะเปิดให้บริการประมาณปลายปี 2561 และเตรียมไว้สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – คูคต โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง

การเปลี่ยนระบบบัตรโดยสารเที่ยวเดียวนี้ บริษัทฯ จะเปลี่ยนตู้จำหน่ายตั๋วโดยสารอัตโนมัติทั้งหมด ให้เป็นแบบจอสัมผัส (Touch Screen) รวมประมาณ 200 ตู้ และติดตั้งตู้จำหน่ายตั๋วที่มีช่องรับธนบัตรเพิ่มอีก 50 ตู้ เพื่อติดตั้งตามสถานีต่างๆ ในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส พร้อมกันไปด้วย ซึ่งจะเริ่มทยอยเปลี่ยนตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2561 ใน 8 สถานีแรก คือ สถานีสยาม สถานีช่องนนทรี สถานีกรุงธนบุรี สถานีวงเวียนใหญ่ สถานีตลาดพลู สถานีบางหว้า สถานีอุดมสุข และ สถานีแบริ่ง จากนั้นก็จะขยายไปจนครบทุกสถานี โดยมีกำหนดแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายน 2561 รวมระยะเวลาดำเนินการ 6 เดือน 

การเปลี่ยนระบบนี้จะทำให้ตู้จำหน่ายตั๋ว และประตูอัตโนมัติเข้าและออกสถานีที่กำลังเปลี่ยนไม่สามารถใช้ตั๋วโดยสารเที่ยวเดียวแบบแถบแม่เหล็ก รวมทั้งบัตรโดยสารประเภท 1 วันได้ แต่ยังคงใช้บัตรแรบบิทได้ ดังนั้นบริษัทฯ จึงได้จัดแผนทยอยสลับเปลี่ยนไปตามสถานีต่างๆ เพื่อให้เกิดผลกระทบกับผู้โดยสารน้อยที่สุด อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ต้องขออภัยในความไม่สะดวกที่จะเกิดขึ้น ในช่วงของการปรับเปลี่ยนระบบบัตรโดยสารบ้าง ทั้งนี้เพื่อความสะดวกในการใช้งานร่วมกับระบบขนส่งมวลชนสายอื่นๆ ในอนาคต บริษัทฯ ขอเชิญชวนให้ทุกคนใช้บัตรแรบบิทแบบเติมเงิน ซึ่งขณะนี้มีโปรโมชั่นลดค่าโดยสาร 1 บาทต่อ 1 เที่ยวการเดินทาง ซึ่งมีราคาถูกกว่าซื้อทีละครั้ง และมีความสะดวกและประหยัดเวลามากกว่า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบัตรโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอส แบบเที่ยวเดียว ใช้บัตรแถบแม่เหล็กนับตั้งแต่เปิดการเดินรถครั้งแรก เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. 2542 หรือเมื่อ 19 ปีก่อน โดยจะต้องกดปุ่มเลือกสถานี และหยอดเหรียญที่เครื่องจำหน่ายตั๋ว ก่อนจะรับตั๋วในรูปแบบแถบแม่เหล็ก นำบัตรไปสอดที่ช่องเสียบบัตรบริเวณประตูเข้าสู่ชานชาลา แล้วรับบัตรเพื่อให้ประตูเปิดออกมา ก่อนจะโดยสารรถไฟฟ้า เมื่อถึงสถานีปลายทาง ให้นำบัตรไปสอดที่ประตูทางออกสถานีเพื่อคืนบัตร ประตูจะเปิดเพื่อออกจากระบบรถไฟฟ้า แม้บัตรโดยสารประเภทเติมเงิน และบัตรโดยสารประเภท 30 วัน จะเปลี่ยนรูปแบบไปใช้ระบบไมโครชิปไร้สายอาร์เอฟไอดี (RFID) แต่ยังคงใช้บัตรแถบแม่เหล็ก สำหรับบัตรโดยสารเที่ยวเดียว และบัตรโดยสารประเภท 1 วัน

อย่างไรก็ตาม หลังการเปลี่ยนระบบบัตรโดยสารเที่ยวเดียว มาใช้บัตรสมาร์ทการ์ดชนิดบาง เวลาเข้าสู่ประตูสถานีจะใช้วิธีแตะบัตรเพื่อเปิดประตู แทนการสอดบัตรแถบแม่เหล็กที่ใช้กันมานาน 19 ปี แต่เมื่อถึงสถานีปลายทางเพียงแค่สอดบัตรเพื่อออกจากสถานีเหมือนเดิม

ตัวอย่างบัตรโดยสารรถไฟฟ้าบีทีเอสประเภทเที่ยวเดียว