“กระทรวงคมนาคม และ รฟม. จับมือนำร่องเปิดตัวบัตรโดยสารร่วม “แมงมุม เชื่อมโยงความสุขทุกการเดินทาง ด้วยบัตรใบเดียว” เริ่มใช้กับรถไฟฟ้า MRT ทั้ง 2 สาย เตรียมพร้อมแจกบัตรแมงมุม 200,000 ใบ ในวันที่ 23 มิถุนายน 2561 เป็นต้นไป”
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานในงานเปิดตัวบัตรโดยสารร่วม หรือ ”บัตรแมงมุม” ว่า ในระยะแรกจะใช้ได้เฉพาะสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินและรถไฟฟ้าสายสีม่วงตลอดสาย หลังจากนั้นในช่วงเดือน ต.ค.นี้ จะมีการเชื่อมต่อกับรถแอร์พอร์ต เรล ลิ้งก์ และรถเมล์ขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. สำหรับบัตรแมงมุมจะเป็นบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ แบ่งเป็น 3 ประเภท คือบุคคลทั่วไป บัตรผู้สูงอายุ และบัตรนักเรียนนักศึกษา โดยการใช้งานจะต้องเติมเงินเข้าไปในบัตรคล้ายในต่างประเทศ เช่น ฮ่องกงที่มีบัตรปลาหมึก โดยทางการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ได้เตรียมแจกบัตรฟรีจำนวน 2 แสนใบในช่วงระหว่างวันที่ 23-29 มิ.ย. 2561 และวันที่ 1-5 ก.ค. 2561 ในทุกสถานีของรถไฟฟ้าสายสีม่วง โดยสามารถนำบัตรประชาชน หรือบัตรนักเรียน นักศึกษามาขอรับได้ที่เคาน์เตอร์ออกบัตรโดยสาร ทั้งนี้ บัตรดังกล่าวจะสามารถใช้ได้กับรถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างทั้งโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู สายสีเหลือง สายสีส้ม และสายสีแดง โดยจะมีการขยายการใช้บริการไปยังเรือโดยสาร และทางด่วน Easy Pass และ M Pass รวมถึงร้านค้าต่างๆ ได้ โดยจะพยายามให้เรือด่วนดำเนินการให้เสร็จภายในปีนี้ ซึ่งในอนาคตค่าโดยสารอาจจะถูกลง เพราะจะมีระบบจัดเก็บค่าโดยสารเดียว โดยขณะนี้รอการจัดตั้งกรมการขนส่งทางรางที่จะเข้ามาเป็นผู้กำกับดูแล และพิจารณาอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม แต่หากจะให้มีอัตราค่าโดยสารที่ถูกลงต้องรอการพิจารณาร่างกฎหมายขณะนี้อยู่ในชั้นกฤษฎีกา ด้านนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รฟม.เตรียมออกบัตรแมงมุมเวอร์ชั่น 2 ด้วยเทคโนโลยี EMV Contactless Smart Card ที่ในบัตรเครดิต ซึ่งในกลุ่มประเทศยุโรปกำลังพัฒนามาใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในอนาคตก็จะสามารถนำบัตรแมงมุมไปใช้เดินทางระบบขนส่งสาธารณะในต่างประเทศและปัจจุบันที่ลอนดอน สิงคโปร์ ได้มีการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวทำให้นำบัตรแมงมุมใช้กับประเทศอื่นที่ใช้เทคโนโลยีเดียวกันได้ โดยคาดว่าจะมีผู้ใช้บัตรมากขึ้น ส่วนกรณีที่รถไฟฟ้าสายสีเขียวที่จะมีการเข้าร่วมบัตรแมงมุมหรือไม่ ขณะนี้กำลังอยู่เจรจาระหว่างการเจรจาแต่ยอมรับว่าติดปัญหาทางเทคนิคบางอย่างและยังไม่รู้ว่าจะได้ข้อสรุปเรื่องนี้เมื่อใดแต่มองว่าหากฐานผู้ใช้บัตรแมงมุมขยายตัวมากขึ้นทาง BTS ก็จะเข้าร่วมเองเพราะในอนาคตโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูและรถไฟฟ้าสายสีเหลืองก็จะต้องมีการเชื่อมต่อระบบเข้าด้วยกันอยู่แล้ว ในส่วนความคืบหน้าของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น ทางขณะนี้ทางกรุงเทพมหานครอยู่ระหว่างการเสนอเรื่องเข้าสภากรุงเทพมหานครพิจารณาก่อนแต่ยืนดีรับโอนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวและยังคงกรอบระยะเวลาเดิมในการเปิดให้บริการส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการช่วงปลายปีนี้ ซึ่งขณะนี้ก็ได้มีการสั่งซื้อขบวนรถเข้ามาแล้วคาดว่าจะทำให้ปัญญาการคับคั่งของการใช้บริการรถไฟฟ้า BTS ลดลง ในส่วนของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิ้งก์ โดยหากทำการปรับปรุงแล้วเสร็จวิ่งให้บริการได้ครบ 9 ขบวน จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มมากขึ้นแม้ว่าจะมีการเชื่อมต่อการเดินทางด้วยบัตรแมงมุม และมองว่าหากในอนาคตเมื่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง ก่อสร้างแล้วเสร็จ ในช่วงพัฒนาการที่เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางจะต้องมีการซื้อขบวนรถเผื่อเนื่องจากจะต้องมีการรองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในปี 2564 ขณะที่ นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. กล่าวว่า ในเบื้องต้นจะแจกบัตรแมงมุมจำนวน 200,000 ใบก่อน โดยเติมเงินได้สูงสุด 2,000 บาท ต่ำสุด 150 บาท และสามารถเริ่มใช้ได้ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.นี้ เป็นต้นไป โดยติดต่อขอรับบัตรได้ที่สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินทุกสถานี ส่วนการเข้าร่วมบัตรแมงมุมของรถเมล์ รฟม.ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยทางเทคนิค ขสมก.อยู่ระหว่างพิจารณาออกแบบ คาดว่าอาจใช้วิธีเก็บค่าโดยสารใน 2 รูปแบบ แบบแรกคือ ให้กระเป๋ารถเมล์มีเครื่องสแกนเก็บค่าโดยสาร หรือแบบที่ 2 คือ การติดตั้งเครื่องอ่านบัตร ไว้บนรถเมล์ ซึ่งจะใช้เวลาอ่านไม่เกินครึ่งวินาทีต่อ 1 ใบ เชื่อมั่นว่าจะไม่เกิดปัญหาเหมือนเครื่องอ่านบัตรที่ต้องโละทิ้งอย่างที่ผ่านมา โดยในส่วนของรถเมล์เอกชนก็สามารถเข้าร่วมได้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการประสานมาแต่ยืนยันว่าจะได้ความชัดเจนในเดือน ต.ค.นี้ ทั้งนี้ ความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร วงเงิน 101,000 ล้านบาท ขณะนี้รายละเอียดการออกแบบและเคลียร์ข้อพิพาทการใช้พื้นที่ก่อสร้างเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างเสนอที่ประชุมคณะกรรมการ รฟม.เพื่อเปิดประมูลโครงการภายในเดือน ส.ค.ตามแผนเดิม โดยขั้นตอนการเปิดประมูลโครงการนั้นได้ข้อสรุปแล้วว่าจะเปิดประกวดราคาแบบ International Bidding เพื่อเปิดช่องให้เอกชนจากต่างประเทศเข้าร่วมประมูลได้อย่างอิสระ เนื่องจากเป็นหนึ่งในเงื่อนไข การให้เงินกู้ของธนาคารพัฒนาเอเชีย หรือ ADB ซึ่งเป็นผู้ให้เงินกู้มูลค่า 10,000 ล้านบาทหรือราว 10% ของวงเงินทั้งหมด อย่างไรก็ตามข้อกังวลด้านความเสียเปรียบในการแข่งขันประกวดราคาของเอกชนไทยนั้น ตนยืนยันว่าทุกบริษัทที่เข้าร่วมประมูลต้องแข่งขันกันเสนอราคาต่ำที่สุดเพื่อชนะการประมูลตามแนวทางสากลทั่วโลกทีใช้เหมือนกัน ไม่มีคะแนนเรื่องได้เปรียบหรือเสียเปรียบด้านเงินทุน ด้านแหล่งข่าวจากบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือ รฟฟท. ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ กล่าวว่า ตามที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กำหนดให้รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และรถเมล์ ขสมก. สามารถใช้ร่วมกับบัตรแมงมุมในวันที่ 1 ต.ค.นี้นั้น ในขณะนี้ แอร์พอร์ต เรล ลิงก์อยู่ระหว่างการติดตั้งระบบตั๋วร่วมพร้อมเครื่องอ่านบัตรแมงมุม วงเงิน 105 ล้านบาท จากบริษัท สมาร์ท เทคโนโลยี โซลูชั่น จำกัด ผู้ชนะการประกวดราคา กำหนดระยะเวลาสัญญา 5 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน ต.ค.นี้ “ในวันที่ 1 ต.ค.นี้ ผมคิดว่ารถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์อาจจะเปิดใช้ระบบเพื่อรองรับการใช้บัตรแมงมุมไม่ทัน แต่น่าจะทันภายในเดือน ต.ค. เพราะจากสัญญากับบริษัทที่ชนะการประมูลจากเดิม 8 เดือน ลดลงมาที่ 5 เดือน ซึ่งถ้าหากนับตอนนี้ไปถึงเดือน ต.ค. จะเหลือเวลาแค่ 4 เดือนเท่านั้น แต่ยังไงก็ต้องพยายามให้ทัน และทางบริษัทที่ติดตั้งก็รับปากว่าจะทันภายในเดือน ต.ค.นี้” แหล่งข่าวกล่าว |
รายงานข่าว ระบุว่า รฟม.เตรียมเปิดให้บริการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถใช้ได้กับระบบตั๋วร่วมได้ในช่วง ก.ค.นี้ ทั้งนี้ ผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐจะสามารถนำบัตรมาใช้การเดินทางได้ 4 ระบบ คือ รถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-เตาปูน และรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินหรือรถไฟฟ้าใต้ดิน จะเริ่มใช้ได้ก่อนเริ่มวันที่ 1 ก.ค. นี้ ส่วนรถเมล์ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. จำนวน 2,600 คัน และรถไฟฟ้า แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จะเริ่มใช้วันที่ 1 ต.ค. นี้เป็นต้นไป โดยผู้ถือบัตรต้องนำบัตรสวัสดิการไปฟอร์แมตที่บริเวณสถานีรถไฟฟ้าเพื่อปรับให้เข้ากับระบบตั๋วร่วมก่อนใช้บริการครั้งแรก
อ่านต่อได้ดี : http://www.transportjournalnews.com/