รฟม. จัดอบรมการปฐมพยาบาลในกรณีฉุกเฉินให้แก่ชุมชน เทศบาลตำบลบางเมือง จ. สมุทรปราการ

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) โดย โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ร่วมกับ เทศบาลตำบลบางเมือง จ. สมุทรปราการ และมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดกิจกรรม “อบรมความรู้เพื่อการปฐมพยาบาลในกรณีฉุกเฉินแก่ชุมชน กับ รฟม.” ให้แก่ผู้นำชุมชน กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน บุคลากรของเทศบาลตำบลบางเมือง และประชาชนในพื้นที่เทศบาลฯ รวมจำนวน 80 คน โดยมีวิทยากรจากสถาบันฝึกอบรมการรักษาความปลอดภัยและดับเพลิง-กู้ภัย รฟม. เป็นผู้ให้ความรู้และฝึกปฏิบัติการการช่วยเหลือผู้ป่วยในภาวะฉุกเฉินในหัวข้อ การช่วยฟื้นคืนชีพด้วยการทำ Cardiopulmonary Resuscitation (CPR) การใช้เครื่องกระตุกคลื่นหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) การช่วยผู้ป่วยมีสิ่งอุดกลั้นทางเดินหายใจ (Choking)
ในโอกาสนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ ยังได้มอบหุ่นสาธิตสำหรับการฝึกฝนปฏิบัติการ CPR ให้แก่เทศบาลฯ เพื่อเป็นประโยชน์ในการถ่ายทอดความรู้แก่ประชาชนในชุมชนต่อไป ทั้งยังสอดคล้องตามนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ของ รฟม. ที่มุ่งเน้นการพัฒนาและต่อยอดความรู้ด้านความปลอดภัยและการส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี

รฟม. เยี่ยมชมขั้นตอนการผลิตชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูป (Guideway Beam) สร้างความมั่นใจในมาตรฐานการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ และสายสีชมพู

รฟม. เยี่ยมชมขั้นตอนการผลิตชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูป (Guideway Beam)

สร้างความมั่นใจในมาตรฐานการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ และสายสีชมพู

 

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)  โดยนายสุรเชษฐ์  เหล่าพูลสุข  รองผู้ว่าการฯ  พร้อมคณะผู้บริหาร รฟม. และบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)  ร่วมด้วยกลุ่มที่ปรึกษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง โดยนายโสฬส เตมียบุตร ผู้จัดการโครงการ และกลุ่มที่ปรึกษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี โดยนายกรวัฒน์ ทะวะบุตร รองผู้จัดการโครงการ 1  เยี่ยมชมโรงงานผลิตชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูป จ.นนทบุรี โดยมี นายวรัช กุศลมโนมัย รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท
ซิโน – ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน)  ให้การต้อนรับ พร้อมทีมงานวิศวกร ให้ความรู้ และพาเยี่ยมชมขั้นตอนการผลิต เมื่อวันอังคารที่ 2 กรกฎาคม 2562

 

โดยปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการติดตั้ง “Guideway Beam” จุดแรกที่บริเวณแยกสามัคคี ถนนติวานนท์ ของรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ

 

โรงงานผลิตชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูป อ.ไทรน้อย จ.นนทบุรี เป็นแหล่งผลิตคานทางวิ่ง Guideway Beam
ที่จะนำมาใช้ในโครงการรถไฟฟ้าสายเหลือง  ช่วงลาดพร้าว – สำโรง    และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี

 

             

รฟม. แจ้งปิดเบี่ยงจราจร (ชั่วคราว) บนถนนลาดพร้าว บริเวณหน้าฟู้ดแลนด์ ลาดพร้าว ถึง บริเวณซอยลาดพร้าว 97 ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 เวลา 22.00 น. เป็นต้นไป เฉพาะช่วงเวลา 22.00 – 04.00 น. เพื่อดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง

รฟม. แจ้งปิดเบี่ยงจราจร (ชั่วคราว) บนถนนลาดพร้าว

บริเวณหน้าฟู้ดแลนด์ ลาดพร้าว ถึง บริเวณซอยลาดพร้าว 97

ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 เวลา 22.00 น. เป็นต้นไป เฉพาะช่วงเวลา 22.00 – 04.00 น.

เพื่อดำเนินงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง

 

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งว่า บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง มีความจำเป็นต้องปิดเบี่ยงจราจร (ชั่วคราว) 1 ช่องทางซ้าย (ชิดทางเท้า) ฝั่งขาออก บนถนนลาดพร้าว บริเวณหน้า ฟู้ดแลนด์ ลาดพร้าว ถึง ซอยลาดพร้าว 97 ระยะทางประมาณ 300 เมตร ตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไป เฉพาะช่วงเวลา 22.00 – 04.00  น. เพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง

โดยระหว่างการก่อสร้างในบริเวณดังกล่าว โครงการฯ จะคืนผิวจราจรบริเวณเกาะกลาง เพื่อให้ผู้ใช้เส้นทางฝั่งขาออก มุ่งหน้าแยกบางกะปิ สามารถใช้ช่องทางการจราจร ได้ 2 ช่องทางคงเดิม โดยให้ผู้ใช้เส้นทางบนถนนลาดพร้าว ฝั่งขาออก ใช้ช่องจราจร ที่ 1 และ 2 (นับจากเกาะกลาง) ทดแทน

ทั้งนี้ การปิดเบี่ยงจราจรเพื่อดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง อาจทำให้ผู้ใช้เส้นทางได้รับความไม่สะดวกในการเดินทาง และการดำเนินงานอาจมีเสียงดังรบกวน ดังนั้น หากไม่มีความจำเป็นโปรดหลีกเลี่ยงเส้นทางดังกล่าว รฟม. ต้องขออภัยมา ณ โอกาสนี้ โดยผู้ใช้เส้นทางสามารถสอบถามรายละเอียดการเบี่ยงจราจร ได้ที่เบอร์โทร 0 2610 4915 และ 09 8257 5555 และติดตามข้อมูลโครงการฯ ได้ที่เว็บไซต์ www.mrta-yellowline.com และไลน์แอด : @mrtyellowline

 

———————————————————————————-

 

กองสื่อสารองค์กร สำนักผู้ว่าการ

โทร 0 2716 4000

โทรสาร 0 2716 4019

Email : pr@mrta.co.th

รับฟังต่อสีเหลืองถึงรัชโย

เมื่อวันที่ 8 ก.ค. ที่ตึกช้าง แยกรัชโยธิน นายสาโรจน์ ต.สุวรรณ ผู้ช่วยผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า วันนี้ รฟม.จัดประชุมรับฟังความเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 งานศึกษารายละเอียดความเหมาะสม ออกแบบ และศึกษาวิเคราะห์โครงการถไฟฟ้าสายสีเหลืองส่วนต่อขยาย ช่วงแยกรัชดา-ลาดพร้าวถึงแยกรัชโยธิน เพื่อรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตาม
ทั้งนี้ จากการศึกษาส่วนต่อขยายเป็นรถไฟฟ้ารางเดี่ยวเช่นเดียวกับสายหลักลาดพร้าว-สำโรง สามารถจุผู้โดยสารได้ 25,000-30,000 คน/ชม./ทิศทาง ด้วยความเร็วสูงสุด80 กม./ชม. โครงสร้างเป็นทางยกระดับตลอดแนวเส้นทาง จุดเริ่มต้นเชื่อมต่อจากสายหลักที่สถานีรัชดา (YL-01) อยู่ใกล้กับอาคารจอดแล้วจร สถานีลาดพร้าวของรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคล ทางวิ่งจะอยู่เหนือแนวเกาะกลางถนนรัชดาภิเษก มีสถานี YLEX-01 อยู่บริเวณหน้าอาคารจอดรถของ สำนักงานยุติธรรม จากนั้นวิ่งไปตามเกาะกลางแล้วเบี่ยงออกจากเกาะกลางไปทางซ้าย เพื่อหลบแนวอุโมงค์ทางลอดแยกรัชโยธิน มีสถานี YLEX-02 ตั้งอยู่บนทางเท้าบริเวณ สน.พหลโยธิน มีสกายวอร์กเชื่อมไปยังสถานีพหลโยธิน 24 ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต  ระยะทาง 2.6 กม. งบลงทุน 3,800 ล้านบาท รฟม. จะเสนอบอร์ดพิจารณาในสัปดาห์หน้า จากนั้นเสนอกระทรวงคมนาคม คณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) และคณะรัฐมนตรีเห็นชอบต่อไป คาดว่าจะก่อสร้างได้ปี 2562 แล้วเสร็จเปิดให้บริการปี 2564

อ่านต่อได้ที่ : https://www.thairath.co.th/content/1330422

เตรียมยกเลิกสัญญาณไฟ พร้อมปิดเบี่ยงจราจร “ลาดพร้าว 101-ลาดพร้าว 101/1 เพื่อเตรียมงานรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง

รฟม. แจ้งยกเลิกสัญญาณไฟจราจร (ชั่วคราว) และปิดเบี่ยงจราจร บนถนนลาดพร้าว บริเวณซอยลาดพร้าว 101 ถึง ซอยลาดพร้าว 101/1 เพื่อเตรียมงานรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2561 เวลา 22.00 น. เป็นต้นไป ตลอด 24 ชั่วโมง

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งว่า บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง มีความจำเป็นต้องยกเลิกสัญญาณไฟจราจร (ชั่วคราว) และปิดเบี่ยงจราจรบนถนนลาดพร้าว บริเวณซอยลาดพร้าว 101 ถึง ซอยลาดพร้าว 101/1 เพื่อเตรียมงานรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค และดำเนินการคืนผิวจราจร

• จุดที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2561 เวลา 22.00 น. ถึง วันที่ 8 กรกฎาคม 2561 ปิดเบี่ยงจราจรบนถนนลาดพร้าว บริเวณซอยลาดพร้าว 101 ถึง 101/1 ฝั่งขาเข้า ช่องที่ 1, ช่องที่ 2 และช่องที่ 3 (นับจากเกาะกลาง) ตลอด 24 ชั่วโมง โดยทางโครงการฯ จะทำการเปิดช่องจราจรฝั่งขาออก 1 ช่องทางขวา (ชิดเกาะกลาง) เพื่อใช้เป็นช่องจราจรฝั่งขาเข้าทดแทน ซึ่งจะมีผลให้มีช่องจราจรเหลือ 2 ช่อง ทั้งฝั่งเขาเข้าและขาออก

• จุดที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม 2561 เวลา 22.00 น. ถึง วันที่ 25 กรกฎาคม 2561 ยกเลิกสัญญาณไฟจราจร (ชั่วคราว) บริเวณทางแยกซอยลาดพร้าว 101 โดยผู้ใช้เส้นทางฝั่งขาออก สามารถไปกลับรถได้ที่บริเวณซอยลาดพร้าว 103 และผู้ใช้เส้นทางฝั่งขาเข้า จะไม่สามารถเลี้ยวขวาเข้าซอยลาดพร้าว 101 ได้ โดยขอให้ผู้ใช้เส้นทางไปใช้จุดกลับรถ บริเวณซอยลาดพร้าว 116 เป็นการทดแทน

ทั้งนี้ การเบี่ยงจราจรเพื่อการเตรียมงานรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค อาจทำให้ผู้ใช้เส้นทางไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง และการดำเนินงานอาจมีเสียงดังรบกวน ดังนั้น หากไม่มีความจำเป็น โปรดหลีกเลี่ยงเส้นทางดังกล่าว รฟม. ต้องขออภัยมา ณ โอกาสนี้ โดยผู้ใช้เส้นทางสามารถ สอบถามรายละเอียดการเบี่ยงจราจร ได้ที่เบอร์โทร 0 2610 4915 และ 09 8257 5555

อ่านต่อได้ที่ : http://www.fm91bkk.com/

6 ก.ค.นี้เบี่ยงจราจรซ.ลาดพร้าว136

เบี่ยงจราจรซ.ลาดพร้าว136 ถึง บริเวณหน้าห้างแม็คโคร    สาขาลาดพร้าว ตลอด 24 ชม. ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว – สำโรง

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งว่า บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์  คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง       ต้องปิดเบี่ยงจราจรบนถนนลาดพร้าว บริเวณซอยลาดพร้าว 136 ถึง บริเวณหน้าห้างแม็คโคร    สาขาลาดพร้าว ตลอด 24 ชม.พื่อเตรียมงานรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค ื จุดที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 6 ก.ค. 61 เวลา 22.00 น. เป็นต้นไป จะปิดเบี่ยงจราจรบริเวณถัดจากซอยอยู่เย็น ถึง ซอยลาดพร้าว 111/1 ฝั่งขาออก 1 ช่องทางขวา (ชิดเกาะกลาง) ตลอด 24 ชม.โดยในช่วงเวลา 22.00 – 04.00 น. จะปิดเบี่ยงช่องจราจรฝั่งขาออก เพิ่มอีก 1 ช่องจราจร เพื่อขนย้ายเครื่องจักรหนักเข้าพื้นที่ดำเนินงาน จุดที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค. 61 จะปิดเบี่ยงจราจรบริเวณหน้าห้างแม็คโคร สาขาลาดพร้าว ถึง หน้าร้านเคเอฟซี ฝั่งขาเข้า 1 ช่องทางขวา (ชิดเกาะกลาง) ตลอด 24 ชม. ผู้ใช้เส้นทางสามารถสอบถามรายละเอียดการเบี่ยงจราจร ได้ที่เบอร์โทร 0 2610 4915 และ 09 8257 5555

อ่านต่อได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/economic/652820

ก่อสร้างขวางทางระบายน้ำเหลือ28จุด

รองผู้ว่าฯกทม.จี้ผู้รับเหมาแก้ปัญหาการก่อสร้างขวางทางระบายน้ำ ทั่วกรุงเร่งแก้ไขแล้ว 113 จุด เหลืออีก28 จุด

นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจสอบจุดก่อสร้างรถไฟฟ้าที่ที่มีผลกระทบก่อให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขังและการระบายน้ำในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ว่า ขณะนี้พื้นที่กรุงเทพมหานครมีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า รวมทั้งหมด 7 สาย ได้แก่ โครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีแดง สายสีน้ำเงิน สายสีส้ม สายสีเหลือง สายสีชมพู และสายสีทอง ซึ่งกำลังเริ่มดำเนินการอยู่ อย่างไรก็ตามปัญหาที่พบส่วนใหญ่จะเป็นบริเวณที่มีการก่อสร้างฐานรากของสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งมีการก่อสร้างทางขึ้น-ลงสถานีรถไฟฟ้า (Sky Walk) มีโครงสร้างที่กีดขวางการระบายน้ำบริเวณคูน้ำ บางแห่งผู้รับจ้างจะทำการตัดท่อระบายน้ำออก ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการระบายน้ำลดลง จากการตรวจสอบพบว่าโครงก่อสร้างรถไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีจุดที่ดำเนินการก่อสร้างทั้งหมด 163 จุด ครอบคลุมพื้นที่ 24 เขต ซึ่งมีจุดก่อสร้างที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาน้ำท่วมขังและการระบายน้ำ 141 จุดผู้รับเหมาแก้ไขเรียบร้อยแล้ว 113 จุด คงเหลืออีก 28 จุด ที่กำลังดำเนินการอยู่ อีกส่วนหนึ่งการก่อสร้างได้ส่งผลกระทบต่อพื้นผิวจราจร ทั้งหมด 21 จุด ดำเนินการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว 14 จุด อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 7 จุด ได้เร่งรัดให้บริษัทผู้รับจ้างหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาโดยเร็ว เช่นให้ทำท่อระบายน้ำชั่วคราว (Bypass) เชื่อมต่อให้น้ำระบายจากผิวจราจรลงสู่ท่อระบายน้ำเดิม

นายจักกพันธุ์ กล่าวด้วยว่า ถึงแม้ว่าบริษัทผู้รับจ้างจะดำเนินการแก้ไขโดยการขุดลอกคูน้ำเพื่อเปิดทางน้ำไหลไปแล้ว แต่ในขณะเดียวกันสำนักการระบายน้ำมีความประสงค์ให้ทางบริษัทผู้รับจ้างติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติม ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 ก.ค.นี้ อย่างไรก็ตามปริมาณฝนที่ตกแต่ละครั้งจะไม่เท่ากัน หากในกรณีที่ฝนตกในปริมาณมาก ควรจะมีระบบสูบน้ำที่สามารถเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ได้โดยเร็ว จึงจำเป็นต้องติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมในจุดดังกล่าว เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขัง เพิ่มประสิทธิภาพในการระบายน้ำ บรรเทาปัญหาความเดือดร้อนแก่ประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนต่อไป

อ่านต่อได้ที่ : https://www.dailynews.co.th/bangkok/652665

4 ก.ค. เบี่ยงจราจรถนนศรีนครินทร์ใต้ทางพิเศษศรีรัช-แยกศรีกรีฑา

รฟม. แจ้งปิดเบี่ยงจราจรถนนศรีนครินทร์ บริเวณใต้ทางพิเศษศรีรัช-แยกศรีกรีฑา ตั้งแต่ 4 ก.ค.61 เป็นต้นไป ตลอด 24 ชม. เตรียมรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง

การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แจ้งว่า บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้รับจ้างก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง มีความจำเป็นต้องปิดเบี่ยงจราจรบนถนนศรีนครินทร์ บริเวณใต้ทางพิเศษศรีรัช ถึง แยกศรีกรีฑา ตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่วันที่ 4 กรกฎาคม 2561 เป็นต้นไป โดยการปิดเบี่ยงจะทยอยปิดเป็นระยะๆ เพื่อเตรียมงานรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค
ระยะแรกจะปิดเบี่ยงจราจร 1 ช่องทางขวา (ชิดเกาะกลาง) ฝั่งขาเข้าและขาออก บริเวณใต้ทางพิเศษศรีรัช ถึง บริเวณศูนย์ซ่อมบำรุงรถยนต์ PIT & GO ระยะทาง 200 เมตร และจะทยอยปิดเบี่ยงจราจรอย่างต่อเนื่อง ช่วงละ 200 เมตร จนสิ้นสุดบริเวณแยกศรีกรีฑา

ทั้งนี้ การเบี่ยงจราจรเพื่อการเตรียมงานรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภค อาจทำให้ผู้ใช้เส้นทางไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทาง และการดำเนินงานอาจมีเสียงดังรบกวน ดังนั้น หากไม่มีความจำเป็น โปรดหลีกเลี่ยงเส้นทางดังกล่าว รฟม. ต้องขออภัยมา ณ โอกาสนี้ โดยผู้ใช้เส้นทางสามารถ สอบถามรายละเอียดการเบี่ยงจราจร ได้ที่เบอร์โทร 0 2610 4915 และ 09 8257 5555

อ่านต่อที่ : https://www.dailynews.co.th/economic/652111

สะดุด! รถไฟฟ้าสายสีส้ม-รถไฟทางคู่เฟส 2 ติดล็อกกม.ใหม่วินัยการคลัง

แผนลงทุนเมกะโปรเจ็กต์คมนาคม ติดหล่ม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ หวั่นเพิ่มหนี้สาธารณะ เป็นภาระงบประมาณ บอร์ด รฟม.สั่งศึกษาการเงินสายสีส้ม-สีม่วงใต้เพิ่ม รถไฟทางคู่ เฟส 2 ติดล็อกยกแผง 9 เส้นทาง ส่อหลุดโค้งประมูลไม่ทันสิ้นปีนี้

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 ที่มีผลบังคับใช้เมื่อ 19 เม.ย. 2561 อาจส่งผลกระทบต่อการขออนุมัติลงทุนโครงการต่าง ๆ ของกระทรวงคมนาคม เนื่องจากแต่ละโครงการต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังเพิ่มอีกขั้นตอนหนึ่ง ซึ่งมีหลักเกณฑ์หลายอย่างต้องพิจารณาประกอบ อย่างไรก็ตาม จะเร่งรัดให้เร็วที่สุด คาดว่ากระบวนการพิจารณาจะช้าจากเดิม 2-3 เดือน

กระทบเมกะโปรเจ็กต์คมนาคม 

โครงการที่ต้องเข้ากระบวนการนี้ ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนใหม่ที่ยังไม่ผ่านอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่วนที่ได้รับอนุมัติก่อน พ.ร.บ.ฉบับนี้บังคับใช้ ไม่จำเป็นต้องนำกลับมาพิจารณาใหม่

โครงการที่ต้องนำกลับไปให้คณะกรรมการตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินคลังฯพิจารณา อันดับแรกคือ รถไฟทางคู่ เฟส 2 จำนวน 9 เส้นทาง เงินลงทุน 427,012 ล้านบาท ที่ต้องเร่งดำเนินการให้ได้ในปีนี้ โดยเส้นทางเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323.10 กม. เงินลงทุน 76,978 ล้านบาท ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการชุดนี้แล้ว รอเสนอ ครม.อนุมัติ

นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การขออนุมัติทุกโครงการต้องทำตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ซึ่งสำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง จะมีแบบฟอร์มให้แต่ละหน่วยงานกรอกเพิ่ม เช่น ความคุ้มค่าด้านการเงิน เพื่อนำไปวิเคราะห์ตรวจสอบเรื่องผูกพันงบประมาณของรัฐบาล จากเดิมสภาพัฒน์พิจารณาแล้วเสนอ ครม.อนุมัติได้เลย แต่ต่อไปต้องส่งข้อมูลเพิ่มให้คณะกรรมการพิจารณา

บอร์ด รฟม.ตีกลับสายสีส้ม 

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. เมื่อ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา ให้ รฟม.นำรูปแบบการร่วมลงทุน PPP โครงการก่อสร้างช่วงศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ และการเดินรถสายสีส้มจากมีนบุรี-ศูนย์วัฒนธรรม-บางขุนนนท์ รวม 34.6 กม.ไปจัดทำรายละเอียดเพิ่มเกี่ยวกับความเป็นไปได้ทางการเงินให้ครบทุกมิติ เช่น อัตราดอกเบี้ย ปริมาณผู้โดยสาร ความคุ้มค่าของโครงการ ให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ ที่จะกำหนดกรอบเพดานหนี้สาธารณะ และกรอบการใช้เงินงบประมาณ ซึ่งจะเร่งดำเนินการและเสนอบอร์ดพิจารณาในการประชุมครั้งหน้าเดือน ก.ค.นี้

สำหรับสายสีส้ม ใช้เงินลงทุน 120,000 ล้านบาทเป็นค่าก่อสร้าง 90,000 ล้านบาท ค่าเดินรถ 30,000 ล้านบาท ใช้รูปแบบการลงทุน PPP net cost เวลา 30 ปี โดยรัฐเวนคืนที่ดิน ส่วนเอกชนลงทุนทั้งก่อสร้างและระบบเดินรถ โดยรัฐสนับสนุนเงินลงทุนไม่เกินเพดานค่างานโยธา 10 ปี เหมือนสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ซึ่งบอร์ดมองว่า แม้จะให้เอกชนลงทุน PPP ทั้งโครงการ แต่มีเงื่อนไขรัฐต้องสนับสนุนเงินลงทุนไม่เกินเพดานค่างานโยธา และต้องจัดสรรประมาณผูกพันระยะยาว จะสร้างภาระให้รัฐบาล

“การที่ รฟม.เสนอแบบ single one single package คือ ให้งานก่อสร้างและเดินรถไปพร้อม ๆ กัน เพื่อให้เปิดบริการได้ตามแผน เดิมเริ่มงานก่อสร้างแล้วถึงจะเปิดประมูลเดินรถ หากมีปัญหาจะเปิดใล่าช้า เหมือนสายสีแดง”

หวั่นกระทบเปิดหวูดปี”66

นายภคพงศ์กล่าวว่า คาดว่างานเดินรถของสายที่ยังไม่ได้รับอนุมัติ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเปิดบริการสายสีส้มปัจจุบันอยู่ระหว่างก่อสร้าง คืบหน้า 9.98% ตามแผนจะเปิดปี 2566 เนื่องจากปกติงานระบบจะใช้เวลา 36 เดือนในการผลิต ติดตั้งและทดสอบระบบ หากหาเอกชนดำเนินการได้ในปี 2562-2563 ถือว่ายังอยู่ในแผนงาน ตั้งเป้าไตรมาส 4 จะประกาศทีโออาร์ความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) 23.6 กม. เงินลงทุน 1.01 แสนล้านบาท อยู่ระหว่างจัดหาแหล่งเงินลงทุนเพิ่ม แบ่งเป็นเงินทุนที่กระทรวงการคลังจะจัดหาเงินทุนให้ 90% อีกส่วนจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) 10% รูปแบบการลงทุนจะเปิดให้เอกชนร่วมทุน PPP เหมือนสายสีส้ม ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบ PPP ที่เหมาะสมระหว่าง PPP net cost และ PPP gross cost รวมถึงทำตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯใหม่ด้วย

งานทางหลวงติดหล่มถ้วนหน้า 

ขณะที่นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า กรมได้รับผลกระทบจาก พ.ร.บ.ดังกล่าวเช่นกัน ทั้งโครงการมูลค่า 1,000 ล้านบาท ที่จะขอจัดสรรงบประมาณประจำปี ในปี 2562 ไม่ต่ำกว่า 20-30 โครงการ จะเริ่มเปิดประมูลเดือน ส.ค.นี้ ให้ทันเบิกจ่ายงบประมาณเดือน ต.ค. อาจล่าช้าออกไปอีกรวมถึงโครงการขนาดใหญ่ มอเตอร์เวย์สายใหม่ เช่น นครปฐม-ชะอำ 119 กม. เงินลงทุน 80,600 ล้านบาท เป็นค่าก่อสร้าง 62,600 ล้านบาท ค่าเวนคืน 18,000 ล้านบาท จะให้เอกชนร่วมลงทุน PPP net cost รัฐเวนคืน และให้เอกชนก่อสร้างงานโยธา ติดตั้งงานระบบ และรับสัมปทานบริหารโครงการ 30 ปี

นอกจากนี้ มีมอเตอร์เวย์กรุงเทพฯ-วังมะนาว จะสร้างเฟสแรก ช่วงต่างระดับบางขุนเทียน-มหาชัย 11.5 กม. เงินลงทุน 15,000 ล้านบาท ส่วนต่อขยายโทลล์เวย์ช่วงรังสิต-บางปะอิน 18 กม. เงินลงทุน 30,538 ล้านบาท ส่วนต่อขยายถนนบรมราชชนนี-ถนนพุทธมณฑลสาย 4 วงเงิน 6,000-7,000 ล้านบาท รวมถึงโครงการ PPP ให้เอกชนร่วมลงทุนระบบเก็บค่าผ่านทางมอเตอร์เวย์ บางปะอิน-โคราช และบางใหญ่-กาญจนบุรี 6 หมื่นล้านบาท และค่าเวนคืนสายบางใหญ่-กาญจนบุรี ที่จะขอเพิ่มเติม 14,217 ล้านบาทด้วย

ห้ามสร้างภาระเกิน 30% 

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลกล่าวว่า เนื่องจาก พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังฯ บังคับใช้ตั้งแต่ 20 เม.ย. 2561 ดังนั้น ทุกหน่วยงานต้องปฏิบัติตาม ทั้งนี้ วันที่ 23 พ.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ ได้เป็นประธานประชุมคณะกรรมการชุดนี้ครั้งแรก และมีมติกำหนดกรอบวินัยการเงินการคลังบางส่วนออกมาแล้ว

สาระสำคัญของกฎหมายมีเรื่องชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ของรัฐไว้ โดยกำหนดอัตราชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ของหน่วยงานรัฐตามที่ได้รับมอบหมาย ต้องมียอดคงค้างรวมกันไม่เกินอัตรา 30% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี สำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) จึงให้โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ที่เตรียมเสนอ ครม. จัดทำรายงานเพิ่มเรื่องการสูญเสียรายได้รัฐมาด้วย

ชี้ไม่ต้องกลับไปนับหนึ่งใหม่

“โครงการที่เข้าเงื่อนไขนี้ ส่วนใหญ่เป็นรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ รถไฟทางคู่ เป็นต้น แม้เป็นโครงการที่เอกชนลงทุน แต่มีเงื่อนไขว่า หากรัฐต้องรับภาระก็จะรับได้ไม่เกินในส่วนที่เป็นการลงทุนตัวโครงสร้างพื้นฐาน ไม่เกี่ยวการเดินรถ”

สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ จะต้องจัดทำแนวปฏิบัติที่ชัดเจน จะได้ไม่เกิดปัญหาการตีความภายหลัง

ด้านนายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ชี้แจงว่า การปฏิบัติตามกฎหมายฉบับนี้ไม่ถึงขนาดต้องกลับไปเริ่มนับ 1 ใหม่ และเชื่อว่าจะไม่ส่งผลทำให้การประมูลโครงการต่าง ๆ ล่าช้า ส่วนจะช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับหน่วยงานเจ้าของโครงการมากกว่า สำหรับรถไฟฟ้าสายสีส้มต้องดูรายละเอียดว่ามีข้อติดขัดอย่างไร หากมีปัญหาก็จะจัดการในภาพรวมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำ

อ่านต่อได้ที่ : https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_112510