“BTS” เลิกบัตรแถบแม่เหล็กเปลี่ยนใช้สมาร์ทการ์ด

แบบเที่ยวเดียว รองรับส่วนต่อขยายสายสีเขียว สำโรง-ปากน้ำ สายสีชมพู และสีเหลือง เริ่มทยอยเปลี่ยน 8 สถานีแรกก่อน

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผอ.ใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพเปิดเผยว่า บริษัทจะเปลี่ยนบัตรโดยสารประเภทเที่ยวเดียวจากบัตรแถบแม่เหล็ก เป็นบัตรสมาร์ทการ์ดชนิดบาง เพื่อเปลี่ยนเป็นบัตรเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้นรองรับส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงสำโรง-สมุทรปราการ ซึ่งจะเปิดบริการปลายปีนี้ และเตรียมไว้รับช่วงหมอชิต – คูคต สายสีชมพู แคราย – มีนบุรี และสายสีเหลือง ลาดพร้าว – สำโรง

ทั้งนี้ บริษัทจะเปลี่ยนตู้จำหน่ายตั๋วโดยสารอัตโนมัติทั้งหมดให้เป็นแบบจอสัมผัส ประมาณ 200 ตู้ และติดตั้งตู้จำหน่ายตั๋วที่มีช่องรับธนบัตรเพิ่มอีก 50 ตู้ เพื่อติดตั้งตามสถานีต่างๆ ในระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส พร้อมกันไปด้วย ซึ่งจะเริ่มทยอยเปลี่ยนตั้งแต่เดือนมิ.ย.61 ใน 8 สถานีแรก และจะขยายจนครบทุกสถานีในเดือนพ.ย.นี้

สำหรับการเปลี่ยนระบบนี้จะทำให้ตู้จำหน่ายตั๋วและประตูอัตโนมัติเข้า และออกสถานี ที่กำลังเปลี่ยนไม่สามารถใช้ตั๋วโดยสารเที่ยวเดียวแบบแถบแม่เหล็กรวมทั้งบัตรโดยสารประเภท 1 วันได้ แต่ยังคงใช้บัตรแรบบิทได้ บริษัทจึงจัดแผนทยอยสลับเปลี่ยนไปตามสถานีต่างๆ เพื่อให้กระทบกับผู้โดยสารน้อยที่สุด

อ่านต่อได้ที่ : https://siamrath.co.th/n/37817

รฟม.วางมาตรการป้องกันน้ำท่วมขังช่วงฤดูฝน ในโครงการรถไฟฟ้าทุกสาย

ตามที่ กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศกรมอุตุนิยมวิทยา เรื่อง การเริ่มต้นฤดูฝนของประเทศไทย พ.ศ. 2561 โดยมีเนื้อหาว่า ฤดูฝนของประเทศไทยในปีนี้เริ่มขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2561 การคาดการณ์สภาพฝนในปี 2561 นี้จะมีปริมาณน้ำฝนมากกว่าปกติ ซึ่งอาจเกิดปัญหาน้ำท่วมขังและน้ำรอระบายจากฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องนั้น

นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า รฟม. ในฐานะองค์กรภาครัฐที่บริหารงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า ได้กำชับให้บริษัทที่ปรึกษาและผู้รับจ้าง งานโยธาของโครงการรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 5 สายทาง ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินงานก่อสร้าง ประกอบด้วย 1. โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง – บางแค และช่วงเตาปูน – ท่าพระ 2. โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต 3. โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) 4. โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง 5. โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี เตรียมเฝ้าระวังและดำเนินงานตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังในบริเวณพื้นที่ก่อสร้าง เพื่ออำนวยความสะดวกและปลอดภัยให้แก่ประชาชนตลอดช่วงฤดูฝนนี้

สำหรับมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณพื้นที่ก่อสร้างในช่วงฤดูฝน มีดังนี้
1. เตรียมเครื่องสูบน้ำ เพื่อสนับสนุนสำนักงานเขตและสถานีตำรวจในพื้นที่ในการระบายน้ำที่ท่วมขัง
2. จัดทำทางระบายน้ำชั่วคราวหรือบ่อน้ำขนาดเล็ก เพิ่มศักยภาพในการรองรับปริมาณน้ำฝนรอการระบาย
3. ตรวจสอบสภาพท่อ/ทางระบายน้ำ ลำลาง และคูคลองต่างๆ ตลอดแนวก่อสร้างโครงการฯ หากพบว่ามีการอุดตัน มีดินทรายทับถม หรือมีวัสดุกีดขวาง ต้องดำเนินการขุดลอกโดยทันที
4. จัดเก็บวัสดุอุปกรณ์และเครื่องจักร พร้อมจัดหาผ้าใบปกคลุม เพื่อป้องกันเศษดินทรายตกหล่นและไหลลงสู่ทางระบายน้ำ
5. นำรถดูดฝุ่นปฏิบัติงานอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้เศษดินหรือฝุ่นละอองตกหล่นไหลลงท่อกีดขวางการระบายน้ำ
6. จัดหน่วยช่วยเหลือฉุกเฉินและบรรเทาทุกข์เพื่อช่วยเหลือเร่งด่วนเมื่อเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า และช่วยเหลือรถยนต์ที่จอดเสีย

ดยที่ผ่านมาโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 5 สายทาง ได้ดำเนินการตามมาตรการแล้วอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวฯ ได้เสริมระบบระบายน้ำบริเวณพื้นที่รอบวงเวียนหลักสี่ ตั้งแต่กรมทหารขนส่งรักษาพระองค์ จนถึงสถานีดับเพลิงบางเขน โดยปรับเพิ่มขนาดท่อระบายน้ำเป็นขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 1.20 เมตร และทำช่องรับน้ำจากถนนลงสู่ท่อระบายน้ำชั่วคราว รวมระยะทาง 950 เมตร และได้ดำเนินการเชื่อมท่อระบายน้ำบริเวณแยกรัชโยธิน เพื่อเร่งการระบายน้ำให้เร็วยิ่งขึ้น

นอกจากนี้โครงการยังจัดกิจกรรม “ลอกท่อระบายน้ำเพื่อคนที่เรารัก” ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 แล้ว โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มฯ ได้ดำเนินการขุดลอกท่อ และลำลาง ตลอดแนวพื้นที่ก่อสร้างในเดือนพฤษภาคม 2561 โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองฯ ได้จัดเจ้าหน้าที่ทำความสะอาดบริเวณพื้นที่ก่อสร้างและปากท่อระบายน้ำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้เศษดินหรือขยะเข้าไปอุดตันทางระบายน้ำ และเฝ้าระวังเป็นพิเศษในจุดวิกฤตบนถนนลาดพร้าว ตั้งแต่ซอยลาดพร้าว 98 ถึงซอยลาดพร้าว 90 ฝั่งขาเข้าบริเวณหน้าห้างบิ๊กซี ที่มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ มีการเตรียมเครื่องสูบน้ำ เพื่อระบายน้ำที่ท่วมขัง และตรวจสอบสภาพท่อ/ทางระบายน้ำอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ รฟม. ได้เน้นย้ำให้บริษัทที่ปรึกษาและผู้รับจ้างงานโยธาทุกโครงการ ดำเนินงานโดยคำนึงถึงความปลอดภัย และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมต่อชุมชมและสังคมเป็นสำคัญ

อ่านต่อได้ที่ : https://siamrath.co.th/n/36855