“บัตรแมงมุม” ของคนเมืองกรุงพกใบเดียวไปได้ทุกที !!!
เดินหน้าแจกบัตรแมงมุม 200,00 ใบฟรี ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย.2561 ตั๋วร่วมที่คนไทยได้ใช้สักที! หลังรอมานาน 10 ปี เบื้องต้นใช้เป็นตั๋วโดยสารได้เฉพาะรถไฟฟ้าสายใต้ดินสายสีน้ำเงินกับสายสีม่วงก่อน จากนั้น เดือน ต.ค. 2561 จะขยายไปใช้ได้กับแอร์พอร์ตเรลลิงค์ และรถเมล์ ขสมก. 2,600 คัน และในอนาคตมีแผนจะขยายไปในทุกๆ การขนส่งมวลชน เช่น รถไฟฟ้าบีทีเอส รถไฟฟ้าทุกสีที่กำลังเดินหน้าก่อสร้าง เรือโดยสาร เป็นต้น
แนวคิดตั๋วร่วมเริ่มมีมาตั้งแต่ ประมาณปี 2550 รัฐบาลคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช. ที่มีพลเรือเอกธีระ ห้าวเจริญ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ก่อนที่จะมีการพัฒนาระบบตั๋วร่วมตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2560 โดยมอบให้ รฟม.ทำหน้าที่บริหารจัดการตั๋วร่วม พร้อมกับ ลงนาม MOU 2 ฉบับ คือ ความร่วมมือเพื่อดำเนินการเชื่อมต่อระบบตั๋วร่วมระหว่าง รฟม. กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS และบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM
อีกฉบับคือบันทึกข้อตกลงเข้าดำเนินงานบริหารจัดการและบำรุงรักษาระบบศูนย์บริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House : CCH) ระหว่าง รฟม. กับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน
แล้วทำไมต้องเป็นบัตรแมงมุม
ในปี 2558 สนข.เปิดให้มีการประกวดออกแบบบัตรตั๋วร่วม ซึ่งนางสาววรรธิชา อเนกสิทธิชน เป็นผู้ชนะการประกวด ซึ่งตัว M มีลักษณะเหมือนแมงมุมและเป็นตัวเอ็มที่มีจุดปลายรวมกัน เหมือนกับเส้นการเดินทางของทุกการคมนาคมทุกอย่างมารวมกัน
นอกจากนี้ ระบบตั๋วร่วมยังออกแบบให้รองรับกับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ภายใต้โครงการระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) ของรัฐบาล โดยกระทรวงการคลังได้กำหนดแผนบูรณาการเข้ากับระบบจ่ายเงินสวัสดิการภาครัฐสำหรับพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ซึ่งจะเริ่มใช้ได้ในเดือนตุลาคม 2560
นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม บอกว่า สำหรับการเดินทางในระบบรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ หรือ รถไฟฟ้าใต้ดิน MRT กับรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-เตาปูน ก่อนที่ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ บัตรโดยสารร่วมจะสามารถใช้ได้ในระบบรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ และรถโดยสารประจำทางขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ รถเมล์ของขสมก. นอกจากนี้รถไฟฟ้าที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ทั้งสายสีชมพู สายสีเหลือง สายสีส้ม และสายสีแดง ก็จะสามารถใช้บัตรแมงมุมร่วมได้เช่นกัน ก่อนจะมีการขยายการใช้บริการไปยังเรือโดยสาร รวมถึงร้านค้าต่างๆได้อีกในอนาคต ส่วนของรถไฟฟ้าบีทีเอสยังอยู่ระหว่างการเจรจา เชื่อว่าหากประชาชนหันมาใช้ตั๋วร่วมมากขึ้นจะทำให้บีทีเอสเข้าร่วมระบบดังกล่าว
นอกจากนี้ ยังมีส่วนของระบบคอมมอนแฟร์ หรือ ระบบจัดเก็บค่าโดยสารเดียว ซึ่งจะทำให้ค่าโดยสารในระบบขนส่งสาธารณะถูกลงหากใช้บัตรโดยสารร่วม
ซึ่งยังต้องรอการจัดตั้งกรมการขนส่งทางราง ที่จะเข้ามาเป็นเรกกูเรเตอร์ เพื่อประเมินภาพรวมโครงการทั้งหมดของรถไฟฟ้าซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ และพิจารณาอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสมก่อนที่จะกำหนดออกมาเป็นบทกฎหมาย ซึ่งยังคงต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ
สำหรับบัตรแมงมุมจะเป็นบัตรอิเล็กทรอนิกส์ มี 3 ประเภท คือ สำหรับบุคคลทั่วไป บัตรผู้สูงอายุ และบัตรนักเรียน/นักศึกษา โดยการใช้งานจะต้องเติมเงินเข้าไปในบัตร ขั้นต่ำ 150 บาท เป็นค่ามัดจำบัตร 50 บาท และค่าโดยสาร 100 บาทและนำไปแตะกับจุดอ่านบัตรของแต่ละระบบ โดยประชาชนสามารถนำบัตรประชาชน หรือบัตรนักเรียน นักศึกษามาขอรับได้ที่เคาน์เตอร์ออกบัตรโดยสาร
อ่านต่อได้ที่ : https://www.pptvhd36.com/news/